ประวัตินักดนตรีไทยที่มีชื่อเสียง - ประวัตินักดนตรีไทยที่มีชื่อเสียง นิยาย ประวัตินักดนตรีไทยที่มีชื่อเสียง : Dek-D.com - Writer

    ประวัตินักดนตรีไทยที่มีชื่อเสียง

    ผู้เข้าชมรวม

    40,601

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    2

    ผู้เข้าชมรวม


    40.6K

    ความคิดเห็น


    12

    คนติดตาม


    0
    หมวด :  รักอื่น ๆ
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  1 ต.ค. 49 / 20:17 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      6.6 ประวัตินักระนาดเอกที่มีชื่อเสียง

      นักดนตรีไทยในยุครัตนโกสินทร์ที่มีความสามารถในการตีระนาดเอกนั้นมีมากมาย แต่นักระนาดเอกที่มีฝีมือเป็นเยี่ยมจนเป็นที่รู้จักและนับถือในความสามารถนั้นมีไม่มากนัก ในบทนี้จึงขอนำเสนอเฉพาประวัติของนักระนาดเอก "ชั้นครู" ซึ่งพอจะสามารถค้นหาประวัติได้มานำเสนอไว้เพื่อให้อนุชนดนตรีไทยรุ่นหลังได้ทราบความเป็นมาของท่านเหล่านี้

      การบรรเลงระนาดเอกในสมัยรัตนโกสินทร์มีพัฒนาการด้านเทคนิค และศิลปะการบรรเลงคู่มากับพัฒนาการของดนตรีไทยยุคที่ดนตรีปี่พาทย์รุ่งเรือง ชั้นเชิงการตีระนาดก็รุ่งเรืองพัฒนาไปด้วย คือมีครูระนาดดีๆเกิดขึ้นหลายคน แต่ละคนต่างมีส่วนปรับปรุงเทคนิคและศิลปะการบรรเลงให้ก้าวหน้าหลากหลายยิ่งขึ้น พอถึงยุคที่ดนตรีไทยเสื่อมความนิยม ชั้นเชิงลีลาการตีระนาดก็เสื่อมถอยตามไปด้วยเช่นกัน ถ้าจะเอาวิวัฒนาการในการตีระนาดเอกเป็นเกณฑ์ในการแบ่งก็พอจะแบ่งได้เป็น 4 ยุคดังนี้
      1. ยุคทอแสงประเทือง - เป็นยุคเริ่มเจริญรุ่งเรือง พ.ศ.2352-2425 ( ร.2-ต้น ร.5)
      2. ยุครุ่งเรืองหลากหลาย - เป็นยุคทองของระนาดเอก พ.ศ.2425-2475 (ร.5-ร.7)
      3. ยุคสืบสายดำรง - เป็นยุคทรงตัว รักษามาตรฐานของยุคเก่าไว้ พ.ศ.2475-2525
      4. ยุคทรงสู้ความเสื่อม - พ.ศ.2525-ปัจจุบัน
      แต่ในบทนี้จะขอนำเสนอเฉพาะประวัติของนักระนาดเอกในยุคที่ 1 และ 2 เท่านั้นเนื่อง จากเป็นยุคที่ดนตรีปี่พาทย์รุ่งเรืองมากที่สุด

      1. ยุคทอแสงประเทือง
      ยุคทอแสงประเทืองของระนาดเอกสมัยรัตนโกสินทร์ได้แก่ช่วงรัชกาลที่ 2 ถึง ต้นรัชกาลที่ 5 ช่วงนี้ปี่พาทย์เริ่มรุ่งเรือง มีบทบาทในวงการดนตรีไทยมากขึ้น จากดนตรีประกอบพิธีและการแสดงโขนละคร มาเป็นดนตรีเพื่อการฟังคือปี่พาทย์เสภา โดยเริ่มมี เค้าตั้งแต่รัชกาลที่ 2 พัฒนาเป็นวงรับร้องเอกเทศในรัชกาลที่ 3 เครื่องดนตรีก็เพิ่มขึ้นเป็น วงปี่พาทย์เครื่องคู่ถือเป็นวงมาตรฐานของวงปี่พาทย์ไทยมาจนปัจจุบัน แต่วงปี่พาทย์ เครื่องห้าก็ยังแพร่หลายอยู่ ส่วนมากใช้ประกอบการแสดง หากบรรเลงรับร้องเพื่อฟังดนตรีจริงจัง ปี่พาทย์เครื่องคู่ได้รับความนิยมมากกว่า ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เกิดวง ปี่พาทย์เครื่องใหญ่ขึ้น ช่วงรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 4 เกิดเพลงรับร้อง 3 ชั้นขึ้นมากมาย นับเป็นพัฒนาการขั้นสำคัญของดนตรีไทย
      เมื่อลักษณะการประสมวงและเพลงเปลี่ยนแปลง วิธีการบรรเลงของเครื่องดนตรีในวงย่อมต้องเปลี่ยนไปด้วย ฆ้องวงใหญ่ อาจจะเปลี่ยนไม่มาก เพราะต้องตี "เนื้อฆ้อง" ยืนเป็นหลักไว้ แต่ ระนาดเอก กับ ปี่ ต้องปรับปรุงวิธีการดำเนินทำนอง ให้เหมาะกับลักษณะวงและลักษณะเพลงอย่างแน่นอน ระนาดเอกซึ่งมีลักษณะเสียงแจ่มจ้าโดดเด่นเป็นพระเอกในวง ต้องมีพัฒนาการเรื่องเทคนิคและศิลปะการบรรเลงมากทีเดียว


      เมื่อวงปี่พาทย์ยังเป็น "เครื่องห้า" ระนาดเอกก็มีวิธีดำเนินทำนองต่างจากฆ้องเป็นทางของตัวเองอยู่แล้ว แต่คงยังไม่วิจิตรพิสดารนักเพราะมีเครื่องดนตรีในวงน้อยชิ้นการประสานเสียงของเครื่องดนตรีในวงจึงยังไม่ซับซ้อน แต่ทุกชิ้นจะ ต้องแม่นยำและดำเนินทางของตนเองได้ชัดเจน ระนาดยุคเก่าจึงตีกลอนระนาดแบบห่างๆเสียงแจ่มจ้า ถือเอาเสียงดังฟังชัดเป็นหลัก
      เมื่อวงปี่พาทย์พัฒนาเป็นวง "เครื่องคู่" และ "เครื่องใหญ่" ระนาดเอกจึงต้อง ดำเนินกลอนระนาดที่วิจิตรซับซ้อนขึ้นเพื่อให้สอดประสานกับระนาดทุ้มและฆ้อง วงเล็กได้แยบยลจึงจะฟังไพเราะ ความดังของเสียงระนาดก็ต้องลดลงให้เหมาะสม กับจำนวนของเครื่องดนตรีในวงประกอบกับเกิดการแพร่หลายของเพลงอัตรา 3 ชั้น ซึ่งเปิดโอกาสให้นักระนาดเรียงร้อยกลอนระนาดให้ไพเราะมีชั้นเชิงได้มาก เมื่อเงื่อน ไขต่างๆเปลี่ยนไป ทางเพลง และ กลอนระนาด ก็ย่อมต้องเปลี่ยนไปคือมีเทคนิคและ เม็ดพรายในการบรรเลงมากขึ้นกว่าเดิม
      ในยุคนี้เองที่ครูระนาดทั้งหลายได้เริ่มพัฒนาทางเพลงของระนาดเอกให้โดด เด่นไพเราะมากยิ่งขึ้น มีระเบียบวิธีการฝึกและเพลงสำหรับฝึกเป็นแบบแผนเช่นเพลง ทะแย 3 ชั้น 7 ท่อน ซึ่งใช้กลอนระนาดแต่ละท่อนไม่ซ้ำกันก็น่าจะเกิดขึ้นในยุคนี้ แต่ น่าเสียดายที่ไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐานแน่ชัดว่า ครูระนาดท่านใด พัฒนาวิธีการตี ระนาดไว้อย่างไร แม้แต่นักระนาดเอกที่มีชื่อเสียงก็ค้นได้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น
      นักระนาดเอกที่มีชื่อเสียงมากในยุคนี้ได้แก่ พระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) ซึ่ง นิยมเรียกกันว่า "ระนาดขุนเณร" มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ได้เป็นเจ้า กรมปี่พาทย์หลวงคนแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้ยังมีครูอื่นอีกบ้างดังรายละ เอียดต่อไปนี้
      คนระนาดเอกฝีมือดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เท่าที่มีชื่อปรากฏเป็นหลักฐานรุ่น แรกมีเขียนไว้ในคำกลอนไหว้ครูเสภาว่า

      ทีนี้จะไหว้ครูปี่พาทย์ ระนาดฆ้องฤาดีปี่ไฉน
      ครูแก้ว ครูพัก เป็นหลักชัย ครูทองอินนั้นแลใครไม่เทียมทัน
      มือตีตอดหนอดโหน่งขยักขย่อน ตาพูนมอญมิใช่ชั่วตัวขยัน
      ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ

      บทไหว้ครูนี้แสดงว่า ครูมีแขก เป็นครูปี่ฝีมือเยี่ยม ครูทองอิน เป็นครูฆ้องที่หาผู้ เสมอเหมือนมิได้ ส่วนครูแก้วครูพักน่าจะเป็นครูผู้ใหญ่เป็นหลักของยุคนั้น ด้านฝีมือน่า จะเป็นนักระนาดผู้ทรงความรู้สูงด้วย เพราะในคำไหว้ครูบ่งบอกไว้ข้างต้นว่า "ระนาด ฆ้องฤาดีปี่ไฉน" คือจะกล่าวถึงครู ระนาด ฆ้อง และ ปี่ ฉะนั้น ตาพูนมอญ ก็น่าจะเป็น คนฆ้องฝีมือดีคนหนึ่งด้วย ฝีไม้ลายมือครูเหล่านี้เป็นอย่างไรไม่มีหลักฐานเหลืออยู่เลย มีแต่เพลงที่ ครูมีแขก แต่งไว้เท่านั้นที่ยังนิยมเล่นกันอยู่ในปัจจุบัน อาจารย์มนตรี ตรา โมท ให้ความเห็นว่า ครูแก้ว ครูพัก และ ครูทองอิน น่าจะเป็นคนรุ่นเดียวกับครูของ ครูมีแขก
      สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวถึง นักดนตรีฝีมือดีในยุคปลายรัชกาลที่ 4 ถึงต้นรัชกาลที่ 5 ไว้ในสาส์นสมเด็จฉบับลง วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2486 ว่า (ข้อความในวงเล็บเขียนเติมเพื่อให้เข้าใจชัดเจนขึ้น)
      "เมื่อได้รับลายพระหัตถ์ (จากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) เผอิญกำลังครูพระประดิษฐ์ฯ (พระประดิษฐ์ไพเราะ ตาด) ขึ้นมานั่งพูดอยู่ด้วย ได้อ่านตอนหัดปี่พาทย์และครอบละครให้ฟังท่านบอกว่าครูเสือนั้นท่านทันเห็น แก่หง่อมผมหงอกขาวทั้งศีรษะเรียกกันว่าเจ้ากรมเสือ แต่จะเป็นเจ้ากรมปี่พาทย์หลวงหรือเจ้ากรมในกรมพระพิพิธ (กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์) ก็หาทราบไม่ ไม่ใช่คนล่ำลือฝีมือดีมิได้แต่นับถือกันเป็นครูใหญ่ด้วยมีอายุสูง คนที่ลือเวลานั้นคือ นายจัน คนของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯกับ นายขุนเณร ซึ่งภายหลังเป็น พระเสนาะดุริยางค์"
      ลายพระหัตถ์ไม่ได้ระบุว่าคนทั้งสองมีฝีมือเลื่องลือด้านใดแต่นายขุนเณรนั้น เป็นคนระนาดแน่นอนเพราะมีรายละเอียดอยู่ในลายพระหัตถ์อีกฉบับหนึ่งนายจันอาจ จะเป็นคนระนาดคู่กับนายมีหรือครูมีแขกซึ่งเป็นคนปี่และเป็นเจ้ากรมปี่พาทย์ของพระ บาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ฝีมือนายจันจะเป็นอย่างไรไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ พระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) นักระนาดเอกคนที่ 1
      พระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) เป็นเจ้ากรมปี่พาทย์หลวงสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อน พระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด ตาตะนันท์) สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษ ฐานไว้ในสาส์นสมเด็จฉบับที่ 8 กันยายน พ.ศ.2484 ว่า พระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) พระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก) และ คุณมรกตครูมโหรีหลวง ได้ทูลเสนอเพลงสรร เสริญพระบารมีไทยต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ
      แม้จะเคยร่วมงานดนตรีกันแต่พระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) เป็นคนรุ่นหลัง พระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด) เพราะในช่วงรัชกาลที่ 5 เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และสมเด็จกรมพระยานริศฯยังไม่ได้โสกัณท์นั้น ครูมีแขกอายุ 70 กว่าปีแล้วส่วน พระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) นั้นเมื่อสมเด็จกรมพระยานริศฯรับราชการแล้วท่านยัง ตีระนาดไหวจัดอยู่ดังทรงเล่าถึงฝีมือของพระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) ไว้ในสาส์น สมเด็จฉบับที่ 23 กันยายน พ.ศ.2484 ว่า
      "ครูมรกต กับ ครูมีแขก นั้นเคยได้ยินแต่ชื่อไม่เคยเห็นตัวแต่เจ้ากรมขุนเณร นั้นได้เคยรู้จักตัวทั้งทราบฝีมือด้วยทีเดียว เห็นแกมาเข้าไปกำกับปี่พาทย์ตีเล่นละคร หลวงแต่ไม่เห็นแกตีอะไรไปนั่งเป็น "P.K.K." อยู่เท่านั้น จนกระทั่งวันหนึ่งมีเทศน์ มหาชาติในพระที่นั่งอัมรินทร์ พอกัณฑ์กุมารจบก็ได้ยินปี่พาทย์ตีเชิดโอดฟังผิดกับ ที่ตีอยู่ตามเคยเป็นอันมากถึงต้องออกไปดูว่าอย่างไรกัน ที่ไหนได้ไปพบเจ้ากรมขุน เณรเข้าโต้ระนาดอยู่ทีเดียว เขาว่าแกเข้าไปตีเพราะเป็นงานบุญ ที่เห็นผิดปกติจนถึง ออกไปดูนั้นก็เพราะเสียงระนาดผิดกว่าปกติ คนโบราณเรียกคนระนาดที่ดีว่า "ไหว" คือตีได้เร็วซึ่งไม่มีตัวมากนัก คนโบราณซึ่งนับว่าตี "ไหว" นั้นใช้ไม้ผิดกับเดี๋ยวนี้ คือพื้นหนาและพันไม่สู้แข็งนักซึ่งคนเดี๋ยวนี้เรียกว่า "ดูดไหล่" อยากจะมีชื่อว่าเป็น คนระนาด "ไหว" ก็เปลี่ยนไม้ตีทำเป็นปื้นบางทั้งแข็งเป็นหัวขโมย ประสงค์ว่าพอ ระไปไม่ใช่ตี เครื่องปี่พาทย์ก็ดังเสียแล้วทำให้เร็วเป็นคน"ไหว"ไปได้ แต่เจ้ากรมขุน เณรแกเป็นคนเก่าคนลือใช้ไม้สำหรับมืออย่างเก่าตีฟังแจ่มกระจ่างมากจึงต้องออกไปดู ก็เป็นอันได้รู้ว่าฝีมือเจ้ากรมขุนเณรเป็นอย่างไร ที่จริงแกจะต้องตีอยู่เสมอแต่ตีอยู่ที่บ้าน ไม่ออกแขก ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะตีไปไม่ได้เลย"
      ในหนังสือ "บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ" เล่ม 4 มีข้อมูลเกี่ยวกับพระเสนาะดุริยางค์ ซึ่งสมเด็จกรมพระยานริศฯทรงเขียนไว้ว่า เจ้ากรมขุนเณรมีบุตรชื่อ พัก ได้เป็นหลวงสำ อางดนตรี (พลบ) ผู้ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "สุอังควาทิน" เกิด พ.ศ. 2409 ปีเดียว กับพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ฉะนั้นพระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) น่าจะ เป็นคนรุ่นโตกว่าครูช้อย อาจจะรุ่นเดียวกับครูทั่ง บิดาครูช้อย แต่เด็กกว่าพระประดิษฐ์ ไพเราะ (ตาด) ดังกล่าวแล้วข้างต้น

      ครูช้อย สุนทรวาทิน นักระนาดเอกคนที่ 2

      ครูช้อย สุนทรวาทิน เป็นอัจฉริยะทางดนตรีไทยผู้เปี่ยมทั้ง ฝีมือ และวิชาความ รู้ แต่งเพลงอมตะไว้หลายเพลงเช่น โหมโรงครอบจักรวาล แขกลพบุรี 3 ชั้น แขกโอด 3 ชั้น ใบ้คลั่ง 3 ชั้น เขมรปี่แก้ว 3 ชั้น เขมรโพธิสัตว์ 3 ชั้น อกทะเล 3 ชั้น ด้านฝีมือมีชื่อเสียงทั้ง ปี่ ระนาด และ ฆ้อง นอกจากนั้นท่านยังเป็น "ยอดครูดนตรีไทย" มีลูกศิษย์มากและหลายท่านมีชื่อเสียงเยี่ยม เป็น "ครูผู้ใหญ่"ในยุคต่อมาเช่น พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ครูเพชร จรรย์นาฎ พระประดับดุริยกิจ (แหยม) พระพิณบรรเลงราช (แย้ม) เป็นต้น
      เรื่องที่น่าแปลกก็คือ ท่านเป็นนักดนตรีที่ตาบอดสนิทมาตั้งแต่ 3 ขวบ แต่อัจฉริย ภาพทางดนตรีของท่านเหนือกว่าคนตาดีรุ่นราวคราวเดียวกับท่านทั้งในด้านวิชาฝีมือ และการถ่ายทอดวิชาดนตรีจนกล่าวได้ว่าท่านเป็นหลักของวงการดนตรีไทยสืบต่อจาก พระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก)
      ครูช้อย เป็นบุตร ครูทั่ง ซึ่งเป็นครูดนตรีผู้ใหญ่รุ่นใกล้เคียงกับ พระประดิษฐ์ ไพเราะ (ครูมีแขก) ครูช้อยนัยตาบอดทั้งสองข้างเพราะไข้ทรพิษตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ครู ทั่งจึงมิได้สอนวิชาดนตรีให้อย่างจริงจังแต่ท่านเป็นอัจฉริยะสามารถจำเพลงได้แม่น ยำและฝึกฝนด้วยตนเองจนมีฝีมือดี มีอยู่คราวหนึ่งคนระนาดประจำวงครูทั่งป่วยกระทันหัน ครูช้อยสามารถบรรเลงแทนได้เป็นอย่างดี บิดาจึงทุ่มเทสอนวิชาดนตรีให้เต็มที่ ด้วยอัจฉริยภาพยอดเยี่ยมท่านจึงศึกษาจนแตกฉานและพัฒนาความรู้ให้งอกเงยออกไป จนมีความรอบรู้และเชี่ยวชาญทั้งการบรรเลงปี่พาทย์และมโหรี จนมีชื่อเสียงโด่งดังยิ่ง กว่าครูทั่งผู้เป็นบิดา
      คุณย่าไผ่ ภรรยาของท่านเล่าให้ ครูเลื่อน สุนทรวาทิน ผู้เป็นหลานปู่ของท่าน ฟังว่า ครูช้อยสีซอสามสายดีและใส่สายซอได้ทั้งๆที่ท่านตาบอดแต่มีโสตประสาท และการใช้มือสัมผัสได้ละเอียดอ่อน ใช้มือแทนตาได้เป็นอย่างดี ครูเพชร จรรย์นาฎ ศิษย์รุ่นเล็กของท่านเล่าว่า เวลาลูกศิษย์ซ้อมเพลง ถ้าใครบกพร่องผิดพลาดท่านจะดีดเม็ดมะขามให้ถูกคนนั้นเพื่อเตือนให้รู้ตัวได้อย่างแม่นยำ พร้อมกับอธิบายด้วยวาจาให้รู้ข้อบกพร่องนั้นไปด้วย ศิษย์ของท่านจึงมีความรู้และฝีมือดีกันทุกคน
      ในด้านฝีมือดนตรี ครูช้อย เชี่ยวชาญทั้ง ระนาด ปี่ ฆ้อง จึงน่าจะเป็นผู้ที่พัฒนาวิธีบรรเลงระนาดเอกให้ประณีตแยบยลไพเราะกว่าที่เคยบรรเลงกันมาแต่เดิมอีก ด้วยดังจะได้อธิบายและแสดงเหตุผลเป็นเรื่องๆ ไปดังนี้
      ในด้านการบรรเลงระนาดเอกแม้ว่าครูช้อยจะไม่มีชื่อเสียงโด่งดังเท่า ระนาด ขุนเณร (พระเสนาะดุริยางค์) ซึ่งน่าจะเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันแต่ถ้าดูจากฝีมือของ ลูกและลูกศิษย์จะเห็นได้ชัดว่าท่านต้องแตกฉานเรื่องระนาดเอกมากทีเดียวยกตัวอย่าง เช่น พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) บุตรคนโตของครูช้อย ตามประวัติไม่ เคยเป็นศิษย์ครูคนอื่นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เรียนเต็มที่กับบิดาเท่านั้น แต่ก็แตกฉาน ทั้ง ระนาด ปี่ ฆ้อง และเครื่องดนตรีอื่นๆอีกมากมาย โดยเฉพาะ ระนาดเอก นั้นมีชื่อ เสียงโด่งดังสืบต่อจากระนาดขุนเณร เลื่องลือมากในช่วงกลางรัชกาลที่ 5 ฝีมืออันเป็น เลิศนั้นนอกจากเพราะอัจฉริยภาพส่วนตัวแล้วยังต้องได้รับการฝึกสอนอย่างดีมาจาก บิดาคือ ครูช้อย สุนทรวาทิน อีกด้วย ส่วนฝีมือในการบรรเลงปี่และฆ้องก็เช่นเดียวกัน
      อีกตัวอย่างหนึ่งคือ พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ศิษย์คน โตของครูช้อย ไม่ทราบแน่ชัดว่าเคยเรียนวิชาปี่พาทย์กับใครบ้าง แต่ได้เรียนเต็มที่กับ ครูช้อย เป็นศิษย์เอกที่ครูช้อยทุ่มเทสอนให้อย่างไม่ปิดบัง ซึ่งก็ปรากฏว่านายแปลกเป็น คนระนาดและคนปี่ชั้นเอกเสมอด้วยพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ท่านยัง แตกฉานในการบรรเลงเครื่องดนตรีอื่นๆและมีความรู้มากจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นครูผู้ใหญ่มาตั้งแต่อายุยังไม่มากนักมีศิษย์ที่มีฝีมือทางระนาดหลายคนเช่นพระเพลงไพเราะ และหลวงชาญเชิงระนาด เป็นต้น
      ศิษย์อีกคนของครูช้อยคือ ครูเพชร จรรย์นาฎ ซึ่งเป็นศิษย์คนเล็กก็มีฝีมือจัดมากทั้งด้านระนาดเอกและฆ้องเคยเป็นคนระนาดเอกประจำวงวังบูรพาภิรมย์มาก่อนครูหลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) ภายหลังจึงเปลี่ยนไปเป็นคนฆ้อง ลูกศิษย์คนหนึ่งของครูเพชรซึ่งมีชื่อเสียงในการบรรเลงระนาดเอกในยุคต่อมาคือ ครูบุญยง เกตุคง
      ครูบุญยง เกตุคง เล่าว่าเรื่องสำคัญที่ท่านได้เรียนจากสำนักครูเพชรคือเรื่องรสมือและทางบรรเลงมีการฝึกตีประคบมือให้ได้เสียงที่ประณีตเหมาะสม ใช้ทางบรรเลงที่แยบยลงดงามกว่าที่ท่านเคยเรียนมาจากครูคนก่อนๆ ครูเพชรเป็นนักดนตรีวงวังบูรพาฯซึ่งพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เป็นครูผู้สอนแนวทางอันประณีตทั้งเรื่องรสมือและทางเพลงก็น่าจะมาจากครูแปลกและครูช้อยนั่นเอง
      ยุคของระนาดขุนเณรและครูช้อยนี้น่าจะถือได้ว่า เป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญซึ่งจะนำไปสู่ยุคก้าวหน้าของทางเพลงระนาดเอก ระนาดขุนเณรเป็นมาตรฐานการตีระนาดของทางระนาดแบบเก่าซึ่งตีไหวและเสียงโตชัดเจนส่วนครูช้อยเป็นผู้พัฒนารสมือและความเรียบร้อยในการตีระนาดเอกโดยใช้กลอนดนตรีที่แยบยลมากยิ่งขึ้นจนถึงยุคของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) และพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ทางเพลงและศิลปะการตีระนาดจึงได้พัฒนายิ่งขึ้นไปอีกจนเห็นได้เด่นชัด
      ครูช้อยจึงเป็นผู้ที่ได้วางรากฐานในการพัฒนากลอนระนาดเอก และรสมือในการบรรเลงระนาดให้กับ พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) และพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) และนับว่าเป็นครูระนาดสำคัญคนหนึ่งของยุครัตนโกสินทร์

      ปีเกิดและปีตายของครูช้อยนั้นพอจะอนุมานได้ว่าน่าจะเกิดช่วง พ.ศ. 2370 - 2380 ถึงแก่กรรมราว พ.ศ.2440 - 2443 ครูเลื่อน สุนทรวาทิน เล่าว่าคุณปู่ช้อยของท่านแก่กว่า คุณย่าไผ่สิบกว่าปี พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) บิดาท่านเป็นลูกชายคนโตของครูช้อย เกิด พ.ศ. 2409 ถ้าขณะ นั้นคุณย่าไผ่อายุ 19 - 20 คุณย่าไผ่ ก็ต้องเกิดปี พ.ศ.2389 ถึง พ.ศ.2390 ครูช้อยจึงน่าจะเกิดช่วงปี พ.ศ.2370 - 2380
      ส่วน ปีตายนั้น หลวงบรรเลงเลิศเลอ (เกิด พ.ศ. 2422) เล่าว่า เมื่อ ท่านอายุราว 11 - 12 ปีได้ไปเป็นศิษย์ครูช้อยที่วัดน้อยทองอยู่ได้ทำหน้าที่จูงครูช้อยไปสอนดนตรีตามวงต่างๆและวังเจ้านายอยู่ 5 ปี จึงพ้นจากหน้าที่นี้ ซึ่งน่าจะประมาณปี พ.ศ. 2438 - 2439 ครูช้อยยังมีชีวิตอยู่ต่อมาแต่น่าจะถึงแก่กรรมก่อนปี พ.ศ. 2443 - 2445 ซึ่งเป็นช่วงที่ครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)ได้เป็น จางวางศร และได้ ประชันระนาดครั้งสำคัญกับพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ถ้าครูช้อยยังมีชีวิต อยู่พระยาประสานดุริยศัพท์ (ครูแปลก)น่าจะเกรงใจครูช้อยและไม่ยอมมาสอน จางวางศร และ ครูเพชร จรรย์นาฏ คงไม่กล้ามาเป็นคนฆ้องให้กับวงดนตรีของจางวางศรด้วยเช่นกัน ครูช้อยจึงน่าจะถึงแก่กรรมก่อนปี พ.ศ. 2445 และมีอายุในราว 70 ปี

      ครูสิน สินธุสาคร (พ.ศ.2375-2457) นักระนาดเอกคนที่ 3
      ครูสิน สินธุสาคร เป็นนักดนตรีสำนักบ้านขมิ้นเรียนดนตรีจากบ้านตัวเองซึ่งเป็นตระกูลดนตรีและโขนละครกันมานาน แต่จะได้เรียนจากครูอื่นเพิ่มเติมบ้างหรือไม่ไม่อาจทราบได้พอเข้าวัยหนุ่มต้องเป็นไพร่สมประจำการที่วังบ้านหม้อของกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ได้ทำหน้าที่เป็นคนระนาดมานานและเป็นครูสอนนักร้องนักดนตรีในวังนี้มาจนถึง พ.ศ. 2448 จึงให้นายเถา (ขุนสมาน เสียงประจักษ์) บุตรชายมาทำหน้าที่แทน ส่วนตัวเองกลับไปผักผ่อนที่บ้าน
      ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2450 ได้ไปเป็นครูควบคุมวงปี่พาทย์ประจำวังของเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ที่นางเลิ้งตลอดมา จนถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ. 2457 รวมอายุได้ 82 ปี ขณะที่เป็นหัวหน้าวงดนตรีในวังของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯนั้น ครูสินได้นำวงดนตรีออกประชันกับวงอื่นๆอยู่เสมอเช่น วงวังบูรพาภิรมย์ วงวังบางขุนพรหม (ยุคนักดนตรีตระกูลนิลวงศ์) วงของกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม วงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (รัชกาลที่ 6) ท่านได้แต่งเพลงไว้หลายเพลง แต่เมื่อเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯเลิกทรงปี่พาทย์ นักดนตรีจึงกระจัดกระจายกันไป เพลงของท่านจึงกระจัดกระจายเสื่อมสูญไปด้วย
      ครูสิน สินธุนาคร น่าจะมีชื่อเสียงอยู่ในยุคเดียวกับ พระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) ครูช้อย สุนทรวาทิน และ ครูสิน ศิลปบรรเลง ท่านเป็นครูระนาดของพระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) ในยุคก่อนที่จะไปเป็นศิษย์ของพระยาประสานดุริยศัพท์ แสดงว่าครูสิน สินธุนาคร เป็นคนระนาดฝีมือดีคนหนึ่งในยุคนั้น แม้จะไม่โด่งดังเท่าพระเสนาะดุริยางค์(ขุนเณร) ผู้มีชื่อเสียงในการตีระนาดอยู่ก็ตาม แต่การที่ท่านเป็นครูวงดนตรีของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ และนำวงออกประชันกับวงปี่พาทย์ของวังบูรพา ซึ่งจางวางศรเป็นคนระนาด วังสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งครูแปลก (พระยาประสานดุริยศัพท์) เป็นผู้คุม วงได้ ก็ต้องนับว่าท่านเป็นครูดนตรีที่เปี่ยมไปด้วยวิชาและฝีมือเอกอีกคนหนึ่ง

      ครูสิน ศิลปบรรเลง นักระนาดเอกคนที่ 4
      ครูสิน ศิลปบรรเลง น่าจะเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับครูช้อย สุนทรวาทิน และครูสิน สินธุนาคร ท่านมีบุตรชาย 2 คนซึ่งต่อมาเป็นนักระนาดเอกที่มีชื่อเสียงเลื่องลือด้วยกันทั้ง 2 คน คนโตคือ ปลัดกรมสุวรรณ (ไม่ทราบนามจริง) ส่วนคนเล็กคือ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ปลัดกรมสุวรรณนั้นมีอายุมากกว่าครูหลวงประดิษฐไพเราะกว่า 20 ปี และเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่ม ส่วนครูสินนั้นถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2443
      ครูสิน ศิลปบรรเลง เป็นศิษย์คนสนิทของพระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก) ติดสอยห้อยตามเรียนวิชา กับพระประดิษฐ์ไพเราะฯมาตั้งแต่หนุ่มจนมีครอบครัว แล้วก็ยังตามเรียนอยู่ จนกระทั่งครูมีแขก สิ้นชีวิตจึงกลับไปอยู่ที่บ้านเดิมที่สมุทรสงคราม ครูสินจึงเป็นครูผู้มีความรอบรู้และมีฝีมือมากคนหนึ่ง เพลงทะเลบ้า 3 ชั้น ที่ท่านแต่งก็ยังเป็นอมตะอยู่จนทุกวันนี้
      ในด้านการตีระนาดท่านต้องมีวิชาและฝีมืออยู่ในขั้นดีคนหนึ่ง เพราะทั้งบุตรคนโตที่ชื่อสุวรรณและบุตรคนเล็กคือหลวงประดิษฐไพเราะล้วนเป็นคนระนาดฝีมือดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงประดิษฐไพเราะนั้นมีฝีมือจัดมาตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าสังกัดวังบูรพา จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าครูสินต้องแตกฉานเรื่องการตีระนาดเอกจึงสั่งสอนลูกชายออกมาฝีมือเยี่ยมอย่างนั้น แต่ไม่สามารถหารายละเอียดเกี่ยวกับฝีไม้ลายมือของครูสินได้

      พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) นักระนาดคนที่ 5
      พระยาเสนาะดุริยางค์เป็นอัจฉริยบุคคลทางดนตรีไทยที่หาผู้เสมอเหมือนได้ยากคนหนึ่ง แตกฉานทั้งปี่พาทย์และมโหรี รอบรู้ทฤษฎีและมีฝีมือดีเยี่ยมแทบทุกเครื่องมือ เป็นเลิศใน เรื่อง ปี่ ฆ้อง ระนาด ขับร้อง ตลอดจนกระทั่ง ขับเสภา เป็นผู้พัฒนาการขับร้องเพลงไทยให้ประณีตเสนาะไพเราะถึงสุดยอดอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนทางร้องของท่านแพร่หลายที่สุดในวงการดนตรีไทย
      เป็นผู้พัฒนาการเป่าปี่ให้มีความไพเราะวิจิตรเพริศพรายและมีชั้นเชิงหลากหลาย เป็นนักระนาดที่ไหวจัดเสียงเจิดจ้าสง่างาม ได้รับยกย่องว่าเป็นสุดยอดของระนาดไหวแบบเก่า กลอนดีไม่มีคนกล้าประชันด้วยตลอดเวลาช่วงกลาง ของรัชกาลที่ 5
      พระยาเสนาะดุริยางค์เป็นบุตรคนโตของ ครูช้อย สุนทรวาทิน มารดาชื่อ ไผ่ เกิดเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2409 ท่านมีพรสวรรค์ทางดนตรีมาแต่เยาว์วัย คุณย่าไผ่เล่าว่าตีระนาดเก่งมาตั้งแต่ยังเล็กมาก ต้องใช้ตั่งรองนั่งจึงจะตีได้สะดวก แม่นทั้งเสียง แม่นทั้งเพลง และความจำดีเยี่ยม ครูมิ ทรัพย์เย็น เล่าว่าโสตประสาทท่านแม่นยำดีนัก แม้ได้ยินเสียงเคาะระนาดเพียงครั้งเดียวท่านสามารถบอกได้ถูกต้องว่าเป็นลูกที่เท่าไร เพลงการทั้งหลายท่านได้ยินเพียงครั้งเดียวก็จำได้ไม่ขาดตกบกพร่อง ครูสอน วงฆ้อง เล่าว่า เมื่อเด็กครูแช่มเล่นปลากัดอยู่ใต้ถุนเรือนในขณะที่นักดนตรีอื่นๆกำลังเรียนดนตรีอยู่กับครูช้อยบนเรือน ท่านกลับจำเพลงที่ครูช้อยต่อให้ได้ก่อนศิษย์เหล่านั้นเสียอีก
      ครูช้อยเป็นครูดนตรีผู้เป็นยอดทั้งฝีมือและวิชาความรู้ พระยาเสนาะดุริยางค์จึงมีพื้นฐานวิชาดนตรีและฝีมือดีเยี่ยมมาแต่อายุน้อย พออายุ 12 - 13 ปีก็ได้เข้าเป็นนักดนตรีในวังบ้านหม้อ ของเจ้าพระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์ ต่อมาในปี พ.ศ.2423 เจ้าพระยาเทเวศฯได้เป็นผู้บัญชากรมมหรสพพระยาเสนาะดุริยางค์หรือนายแช่มจึงได้รับราชการเป็นนักดนตรีประจำกรมมหรสพด้วย จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนเสนาะดุริยางค์ เมื่อ พ.ศ. 2446 เป็นหลวง เมื่อ พ.ศ. 2452 เป็นพระ เมื่อ พ.ศ. 2461 เป็นพระยา เมื่อ พ.ศ. 2468 แล้วถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2492
      ครูช้อยเป็นครูดนตรีผู้เป็นยอดทั้งฝีมือและวิชาความรู้ นายแช่มจึงมีพื้นฐานวิชาดนตรีและฝีมือดีเยี่ยมมาแต่อายุน้อย พออายุ 12 - 13 ปีก็ได้เข้าเป็นนักดนตรีในวังบ้านหม้อของเจ้าพระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์ ต่อมาในปี พ.ศ.2423 เจ้าพระยาเทเวศฯได้เป็นผู้บัญชากรมมหรสพ นายแช่มจึงได้รับราชการเป็นนักดนตรีประจำกรมมหรสพด้วย จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนเสนาะดุริยางค์ เมื่อ พ.ศ. 2446 เป็น หลวง เมื่อ พ.ศ. 2452 เป็น พระ เมื่อ พ.ศ. 2461 เป็น พระยา เมื่อ พ.ศ. 2468 แล้วถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2492
      ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นวงวังบ้านหม้อเป็นที่ทำการของกรมมหรสพ จึงเป็นศูนย์กลางความรู้ด้านปี่พาทย์ โขน และ ละคร มีนักดนตรีเก่งๆรวมกันอยู่ที่นั่นมากมายตลอดเวลา กรมพิณพาทย์หลวงเป็นหน่วยงานย่อยของกรมมหรสพ ซึ่งขึ้นกับกรมมหาดเล็กอีกต่อหนึ่ง (ชื่อหน่วยงานราชการเรียกกรมเหมือนกันหมดกรมมหาดเล็กมีฐานะเท่ากระทรวง กรมมหรสพมีฐานะเท่ากับกรมศิลปากรกรมพิณพาทย์หลวงเทียบได้กับกองการสังคีต) ในกรมปี่พาทย์หลวงเป็นที่รวบรวมครูดนตรีและนักดนตรีฝีมือดีแหล่งใหญ่ที่สุดเช่นพระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) เจ้ากรมพิณพาทย์หลวงคนแรกสมัย ร.5 พระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด) เจ้ากรมคนต่อมา หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี) ครูมโหรีและครูร้องคนสำคัญ ครูสิน สินธุนาคร คนระนาดเอกของวงวังบ้านหม้อ
      การที่พระยาเสนาะดุริยางค์หรือนายแช่มได้เข้าเป็นนักดนตรีในกรมพิณพาทย์หลวง จึงมีโอกาสได้เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์อย่างดียิ่ง ได้เรียนกับครูเก่ง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมเต็มที่
      พระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) นั้น น่าจะได้เป็นครูระนาดคนหนึ่งของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ด้วย เพราะเมื่อ นายแช่ม เข้ารับราชการในกรมพิณพาทย์หลวงนั้น อยู่ในช่วงท่านขุนเณรเป็นเจ้ากรมและกำลังเป็นคนระนาดโด่งดังที่สุดอยู่ นายแช่มซึ่งอายุไม่ถึงยี่สิบกำลังอยู่ในวัยศึกษาหาประสบการณ์และเป็นนักดนตรีในบังคับบัญชาของท่านก็ย่อมเป็นศิษย์ท่านไปด้วยโดยปริยายตามสายงาน ทั้งปรากฏว่าฝีมือการตีระนาดของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ก็ไหวจัด ชัดเจน เช่นเดียวกับพระเสนาะดุริยางค์(ขุนเณร) ทั้งสองท่านนี้จึงน่าจะได้เป็นครูเป็นศิษย์กันไม่โดยตรงก็โดยอ้อม
      เมื่อเจ้าพระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์ร่วมกับเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์จัดละครดึกดำบรรพ์ขึ้น (เริ่มฝึกหลัง พ.ศ. 2434 แสดงครั้งแรก พ.ศ. 2442) พระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด) เป็นผู้ฝึกซ้อมบรรเลง หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี ทองพิรุฬห์) ควบคุมการขับร้อง นายแช่ม สุนทรวาทิน เป็นคนระนาด ย่อมได้ศึกษาเพลงการและทางเพลงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์จาก พระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด) ด้วย จน ท่านมีความเชี่ยวชาญปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์มาก อนึ่งทางร้องของละครดึกดำบรรพ์นั้น หลวงเสนาะดุริยางค์ได้ปรับปรุงขึ้นใหม่มีลีลาประณีตไพเราะยิ่ง นายแช่มย่อมได้ศึกษามาอย่างดีจนท่านมีความรู้ความสามารถในเรื่องการขับร้องดีเยี่ยมด้วยดังปรากฏว่า ท่านได้ถวายงานบรรจุเพลงบทละครเรื่องเงาะป่าแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จนเมื่อ พ.ศ. 2448 ท่านได้แต่งทางร้องเพลงใหม่ๆ หลายเพลง เช่น เซ่นเหล้า แขกไทรชั้นเดียว เพลงยาวแหบ โอ้ช้า และท่านได้เป็นนักร้องต้นเสียงชายด้วย ต่อมาท่านได้พัฒนาศิลปะการขับร้องเพลงไทยให้เสนาะไพเราะสุดยอด พื้นฐานการขับร้องแบบประณีตของท่านน่าจะเริ่มมาตั้งแต่ร่วมงานละครดึกดำบรรพ์ จึงถือได้ว่าหลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี) เป็นครูคนหนึ่งของท่าน
      ถ้าข้อสันนิษฐานดังกล่าวถูกต้องก็นับว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ได้เป็นทั้งศิษย์ของ หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี ทองพิรุฬห์) และพระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) เป็นผู้สืบ "สายเสนาะ" ทั้งด้านศิลปะการดนตรีและราชทินนาม
      พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งปี่และระนาดเอกมาตั้งแต่หนุ่มยังไม่มีบรรดาศักดิ์ ได้เป็นผู้เดี่ยวปี่และระนาดเอกบันทึกแผ่นเสียงของเมืองไทย เท่าที่ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล พบ มีเดี่ยวปี่ในเพลงเชิดนอก เดี่ยวระนาดเอกเพลงการเวก 3 ชั้น
      เฉพาะด้านระนาดนั้นตีได้ไหวจัดชัดเจนจนไม่มีใครต่อกรด้วยได้ ดังที่นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล เขียนไว้ว่า "เวลาไปประชันวงกับใคร พอรู้ว่าคนตีระนาดเอกชื่อนายแช่มลูกครูช้อยแล้วละก็ นักดนตรีสมัยนั้นเขายกย่องว่าไม่มีใครสู้ คนระนาดฝีมือดีจัดแค่ไหนก็ต้องกลัวนายแช่มคนนี้" ครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เมื่อรุ่นหนุ่มก็คร้ามเกรงฝีมือ "นายแช่ม" มากดังที่ ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ เขียนเล่าไว้ว่า "วันหนึ่ง สมเด็จกรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์ วรเดช ทรงเห็นว่าจางวางศรมีฝีมือจัดเจนพอที่จะประชันกับระนาดผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งได้แล้ว จึงรับสั่งให้มีการประชันวงขึ้น ตอนนี้เองท่านครูเล่าให้ผมฟังว่าพอได้ยินรับสั่งให้ไปประชันกับท่านผู้นั้น (คือพระเสนาะดุริยางค์ - แช่ม) แล้วท่านก็บังเกิดความกลัวจนลนลาน เพียงแต่ได้ยินชื่อก็รู้สึกว่ามืออ่อนปวกเปียกไปเลยทีเดียว" แม้ ว่าหลังการประชันผ่านไปแล้วทางระนาดของหลวงประดิษฐไพเราะจะแพร่หลายได้รับความนิยมมากกว่า แต่หลวงประดิษฐไพเราะก็ยังกล่าวยกย่องฝีมือของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ให้ครูประสิทธิ์ ถาวร ศิษย์เอกของท่านฟังว่า "ตีระนาดตอนจบเพลงนั้นไม่มีใครตีได้ความรู้สึกที่เจิดจ้าเท่าพระยาเสนาะดุริยางค์" อาจารย์มนตรี ตราโมท เล่าถึงฝีมือของพระยาเสนาะดุริยางค์ให้ผู้เขียนฟังว่า "ท่านตีไหวมาก แต่ไหวคนละแบบกับครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ครูหลวงประดิษฐฯนั้นท่านไหวร่อน แต่พระยาเสนาะดุริยางค์ไหวแบบโบราณคือ ไหวลูกโป้ง เสียงลึก แล้วแปลกจริงๆที่ยิ่งไหวยิ่งจ้า คนไม่กล้าสู้ท่านก็เพราะอย่างนี้"
      จากคำบอกเล่าข้างต้นเห็นได้ชัดว่าฝีมือการตีระนาดเอกของพระยาเสนาะดุริยางค์(แช่ม สุนทรวาทิน) เป็นแนวเดียวกับพระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) คือไหวจ้า ชัดเจน แต่ความประณีตลึกล้ำดูจะพัฒนาสูงยิ่งกว่าจนได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดของระนาดไหวเสียงโตแบบเก่า และกลอนดีมีลีลาองอาจสง่างาม จนถือเป็นระนาดแบบฉบับที่คนระนาดยุคหลังต้องพยายามฝึกฝนตามแบบให้ดีที่สุดก่อน แล้วจึงฝึกการตีกลอนละเอียดคมคายตามแนวพระยาประสานดุริยศัพท์ สุดท้ายจึงฝึกชั้นเชิงการตีระนาดอันวิจิตรแบบครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
      ช่วงปลายรัชกาลที่ 4 และต้นรัชกาลที่ 5 ระนาดขุนเณร (พระเสนาะดุริยางค์) โด่งดังที่สุด ต่อมาก็คือ "นายแช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์)" โด่งดังอยู่ในช่วงกลางรัชกาลราว พ.ศ. 2427 - 2443 โดยมี ครูแปลก (พระยาประสานดุริยศัพท์) เป็นผู้มีชื่อเสียงคู่เคียงกันแต่เด่นกันไปคนละแนว ตั้งแต่ พ.ศ. 2444 เป็นต้นมาจึงเป็นยุคของ "จางวางศร" (หลวงประดิษฐไพเราะ - ศร ศิลปบรรเลง)

      ครูเฉลิม บัวทั่ง เล่าว่า ครั้งหนึ่งตัวท่านและครูปั้นผู้บิดาลงเรือล่องมาถึงหน้าวัดเขมาภิรตาราม ตอนนั้นกำลังมีงานวัดพอดี ได้ยินเสียงเดี่ยวระนาดเอกเพลงการเวก ครูปั้นผู้เป็นบิดาบอกครูเฉลิมว่า "ฟังไว้ซี นั่นละฝีมือของนายแช่มเขาละ" แล้วก็จอดเรือแวะไปที่งาน ปรากฏว่าเป็นเสียงจากลำโพงของเครื่องเล่นแบบไขลาน ครูเฉลิมบอกว่าท่านตีดีจริงๆ ยังจำได้ติดหูมาจนทุกวันนี้ ครูปั้นเป็นครูดนตรีผู้ใหญ่ คุมวงวังท่าเตียนของกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม ก็ยังชื่นชม ยกย่องฝีมือของพ่อแช่ม แสดงว่ายุคนั้น พ่อแช่มโด่งดังไม่มีตัวจับจริงๆ
      ลูกศิษย์ระนาดเอกของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) มีมาก ที่มีฝีมือเด่นได้แก่ นายอิน (นิลวงศ์) คนระนาดวังบางขุนพรหมยุคแรก นายเพิ่ม ภิญโญ นายทองใบ ขวัญดี สองคนนี้เป็นคนระนาดวงเจ้าพระยาธรรมาธิกรณธิบดี คนที่มีชื่อเสียงที่สุดเห็นจะเป็น ครูพริ้ง คนตรีรส ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นเจ้าแห่งระนาดละคร ด้านปี่ท่านก็เชี่ยวชาญมาก
      อาจารย์มนตรี ตราโมท เล่าว่า พระยาเสนาะดุริยางค์เคยเป่าปี่ประชันกับพระยาประสานดุริยศัพท์ครั้งหนึ่ง ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯหรือไม่ก็เป็นสมเด็จวังบูรพาฯ ผลปรากฏว่าฝีมือเสมอกันคือเด่นกันคนละอย่าง พระยาประสานดุริยศัพท์เป่าปี่อ่อนหวานคมคาย ส่วนพระยาเสนาะดุริยางค์ เป่าวิจิตรเพริศพรายทั้งสองท่านจึงได้เป็นคนเป่าปี่ประจำวงปี่พาทย์ฤาษี ซึ่งเป็นวงปี่พาทย์ชุดพิเศษส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งล้วนเป็นครูดนตรีที่มีฝีมือสุดยอดในแต่ละทางดังนี้

       

      ปี่นอก

      นายแช่ม สุนทรวาทิน (พระยาเสนาะดุริยางค์)

      ปี่ใน

      นายแปลก ประสานศัพท์ (พระยาประสานดุริยศัพท์)

      ระนาดเอก

      นายศร ศิลปบรรเลง (หลวงประดิษฐไพเราะ)

      ฆ้องวงใหญ่

      นายโถ (ชาวอัมพวา เป็นคนฆ้องวังกรมหลวงชุมพรฯ)

      ฆ้องวงเล็ก

      นายทั่ว พาทยโกศล (จางวางทั่ว) ขณะนั้นเป็นนักดนตรี

       

      วังเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

      ระนาดทุ้ม

      ครูเหลือ วัฒนวาทิน ครูปี่พาทย์วงวังสวนกุหลาบ

      กลองสองหน้า

      นายเนตร หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ครูสีหมี คนเครื่องหนังวังบูรพา

      ผู้ขับร้อง

      หม่อมส้มจีน

      เครื่องปี่พาทย์ชิ้นอื่นนั้น พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ก็แตกฉาน จะ เห็นได้จากศิษย์ซึ่งเป็นเลิศในแต่ละเครื่องมือเช่น ครูเทียบ คงลายทอง (ปี่) ครูสอน วงฆ้อง (ฆ้องใหญ่, ฆ้องเล็ก) ครูแสวง โสภา (ระนาดทุ้ม) ครูมิ ทรัพย์เย็น (เครื่องหนัง) ครูแสวงนั้นท่านให้เรียนเพิ่มเติมกับ ครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ ด้วย เครื่องสายท่านก็ชำนาญ มีศิษย์ที่มีฝีมือหลายคน ที่ท่านเป็นเลิศอีกประการหนึ่งคือ การขับร้อง ศิษย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังได้แก่ ครูเชื้อ นักร้อง, ครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ ,สุดา เขียววิจิตร, ทัศนีย์ พิณพาทย์, สุดจิตต์ ดุริยะประณีต และ ธิดาของท่านเองคือ ครูเลื่อน สุนทรวาทิน และ อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน ตัวท่านเองก็ร้องเพลงและขับเสภาได้ไพเราะ กระบวนขยับกรับก็ยอดเยี่ยม ได้ถ่ายทอดวิชาให้ศิษย์ไว้หลายคน เช่น ครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ และ ครูคงศักดิ์ คำศิริ เป็นต้น
      พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เชี่ยวชาญทั้งเพลงเสภาและเพลงละครในเรื่องเงาะป่า แสดงถึงอัจฉริยภาพอันยอดเยี่ยมของท่านในด้านนี้ ด้านเพลงเสภาท่านก็ปรับปรุงทางให้ไพเราะทั้งทางร้องและทางเครื่อง แต่ไม่ค่อยแต่งเพลงใหม่ทั้งๆที่ท่านมีความสามารถทำได้ดี เพลงที่ท่านแต่งจึงมีน้อย เท่าที่พบมีเพลงโอ้ลาว สามชั้นและชั้นเดียว เพลงเชิดจีน 3 ชั้น เพลงแขกมอญ ชั้นเดียว และน่าจะมีเพลงพม่าห้าท่อน ที่ใช้ในการประชันวง เมื่อ พ.ศ. 2465 อีกเพลงหนึ่ง แต่เพลงที่แพร่หลายที่สุดคือ ตับมอญคละ ส่วนทางเดี่ยวท่านน่าจะได้แต่งหรือปรับปรุงจากของเก่าเพื่อให้ศิษย์ใช้บรรเลงประชันวงหลายเพลงและหลายเครื่องมือ เพลงที่ทราบแน่นอนว่าท่านแต่งเองมีเดี่ยวระนาดเพลงอาเฮีย เดี่ยวฆ้อง เพลงทยอยเดี่ยว (แต่งร่วมกับครูสอน วงฆ้อง) เดี่ยวปี่ เพลงพญาโศก แขกมอญและเพลงอื่นๆ ตลอดเพลงกราวในเถา
      พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เป็นนักดนตรีไทยที่ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เป็นคนแรก เมื่อปี พ.ศ. 2450 ขณะเป็นขุนเสนาะดุริยางค์ เจ้ากรมพิณพาทย์หลวง นับเป็นเกียรติประวัติสูงสุดประการหนึ่งในชีวิตของท่าน

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×